‘วิกฤติเหล็ก’ กำลังมา เหล็กจีนล้นโลก ฉุดราคาต่ำสุด 2 ปี

22 สิงหาคม 2567
‘วิกฤติเหล็ก’ กำลังมา เหล็กจีนล้นโลก ฉุดราคาต่ำสุด 2 ปี
จากปัญหาการผลิตล้น (Overcapacity) ในจีนที่นำไปสู่ผลกระทบต่อบางอุตสาหกรรมเช่น แผงโซลาร์เซลล์ ล่าสุดมีสัญญาณมาถึง “อุตสาหกรรมเหล็ก” เป็นรายต่อไป หลังบริษัทผู้ผลิตเบอร์ 1 ของโลกออกโรงเตือนอุตสาหกรรมจ่อวิกฤติรุนแรง ขณะที่ราคาสินแร่เหล็กร่วงต่ำสุดในรอบ 2 ปี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตลาดแร่เหล็กโลกกำลังเผชิญกับความผันผวนอย่างรุนแรง เมื่อราคาฟิวเจอร์สแร่เหล็กในตลาดสิงคโปร์ร่วงลงสู่ระดับ 92.65 ดอลลาร์ต่อตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ “อุปทานส่วนเกินทั่วโลก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ผู้ผลิตเหล็กของจีนกำลังประสบปัญหาและต้องลดกำลังการผลิตลง

“ไชน่า เป่าอู่ สตีล กรุ๊ป” (China Baowu Steel Group Corp) ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดเบอร์ 1 ของโลกจากจีน ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กในจีนที่อาจจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก และจะยิ่งฉุดให้อุตสาหกรรมนี้ถดถอยลงไปอีก

“สถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมเหล็กของจีนเป็นเหมือน ฤดูหนาวที่โหดร้ายที่จะยาวนาน หนาวเย็น และยากที่จะทนเกินกว่าที่เราคาดการณ์ไว้" หู หวางหมิง ประธานของบริษัทไชน่าเป่าอู่สตีลกรุ๊ป กล่าวกับพนักงานในการประชุมรอบครึ่งปีที่ผ่านมา โดยเตือนว่าสถานการณ์ตอนนี้จะเป็นความท้าทายที่เลวร้ายกว่าวิกฤติครั้งใหญ่ในปี 2551 และ 2558

นักลงทุนทั่วโลกกำลังจับตาเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเติบโตที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในภูมิภาคและทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กที่ใหญ่ที่สุดของโลก

เบอร์ 1 อย่างเป่าอู่ สตีล ซึ่งมีปริมาณการผลิตเหล็กมากถึงราว 7% ของโลก ได้ออกมาเตือนถึง “ความเสี่ยง”ที่อาจเกิดขึ้นกับอุปสงค์และราคาเหล็ก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง

ด้าน "ทิสเซ่นกรุปป์ เอจี” (ThyssenKrupp AG) ยักษ์ใหญ่ด้านเหล็กของเยอรมนีเน้นย้ำถึงความท้าทายที่อุตสาหกรรมนี้ต้องเผชิญ หลังจากรายงานผลประกอบการที่ย่ำแย่

ข้อความที่ชัดเจนของหู น่าจะเป็นความกังวลสำหรับคู่แข่งทั่วเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กจีนต้องเผชิญกับความต้องการภายในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จีนเร่งการส่งออกเหล็กไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกเหล็กของจีนในปีนี้จะสูงถึง 100 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบหลายปี เพื่อชดเชยการชะลอตัวภายในประเทศ

ราคาตกต่ำสุดในรอบ 2 ปี

ราคาแร่เหล็กฟิวเจอร์ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่ใช้ในการผลิตเหล็ก ร่วงจากระดับ 100 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลงกว่า 30% แล้วในปีนี้ โดยราคาในตลาดสิงคโปร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วร่วงลงสู่ระดับ 92.65 ดอลลาร์ต่อตัน แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565

ในสัปดาห์นี้ ทีมนักวิเคราะห์ธนาคารซิตี้กรุ๊ปได้ปรับลดคาดการณ์ราคาแร่เหล็กช่วง 3 เดือน ลงมาเหลือเพียง 85 ดอลลาร์ต่อตัน จากคาดการณ์เดิมที่ 95 ดอลลาร์ต่อตัน

ซิตี้กรุ๊ปยังระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคามีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงไปถึง 80 ดอลลาร์ต่อตัน เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กกล้าในจีนลดการผลิตลง ในขณะที่พลวัตของตลาดได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยจีนกำลังเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ต้องการเหล็กกล้าน้อยลง

“จีนกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่นำโดยพลังการผลิตใหม่ ซึ่งต้องการเหล็กกล้าน้อยลง” ทีมนักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ปกล่าวและระบุว่า บรรดาโรงงานเหล็กในจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนี้ จะต้องปรับระดับปริมาณการผลิตให้เหมาะสม เพราะจะส่งผลกระทบต่อราคาและการบริโภคตามมา

วิเวก ธาร์ นักกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์ของธนาคารคอมมอนเวลธ์ในออสเตรเลีย กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีการบริโภคเหล็กกล้าประมาณ 30% และจีนยังนำเข้าแร่เหล็กประมาณ 3 ใน 4 ของทั้งโลก แต่เนื่องจากวิกฤติที่เผชิญอยู่ท่ามกลางราคาอสังหาฯ ที่ร่วงลงเร็วสุดในรอบ 10 ปี จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะส่งผลกระทบรุนแรงไปยังอุตสาหกรรมเหล็กและราคาแร่เหล็กด้วย

ล่าสุด ราคาแร่เหล็กเริ่มปรับตัวโดยเพิ่มขึ้นถึง 3.5% ในตลาดสิงคโปร์เมื่อวันที่ 20 ส.ค. เนื่องจากได้ปัจจัยบวกมาตรการของจีนที่เปิดทางให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถขายบอนด์ไปซื้อบ้านได้ เพื่อช่วยพยุงตลาดที่อยู่อาศัยที่ขายไม่ออกอีกทางหนึ่ง แต่เป็นที่คาดว่ามาตรการขนาดเล็กเช่นนี้จะไม่สามารถช่วยพยุงราคาได้นานนัก

นักวิเคราะห์จากธนาคารแบงก์ออฟอเมริกาเปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า อุตสาหกรรมเหล็กกล้าของจีนกำลังอยู่ในภาวะที่ยากลำบากมาก เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอกำลังกัดกร่อนกำไรเพิ่มขึ้น และคาดว่าอุปสงค์จะยังคงซบเซาต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 พร้อมกับตลาดอสังหาฯ ที่อ่อนแรงในจีน ทำให้ผู้ผลิตจีนต้องมองหาการ “ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ” แทน

ข้อมูลจากแบงก์ออฟอเมริกาพบว่า 5 ประเทศในอาเซียนประกอบด้วย เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ดูดซับเหล็กที่ส่งออกมาจากจีนแล้วถึง 26% ในปีที่แล้ว ตามมาด้วยเกาหลีใต้อีก 9% ซึ่งการระบายสต็อกของจีนอาจทำให้เกิดภาวะเหล็กล้นตลาดในประเทศเหล่านี้จนกระทบต่อผู้ผลิตท้องถิ่นและราคาหุ้นในประเทศ

“อาร์เซเลอร์ มิตตัล” (ArcelorMittal) ผู้ผลิตเหล็กอันดับ 2 ของโลก แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของ “การระบายเหล็กจากจีน” ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเหล็กทั่วโลก และทำให้ตลาดโลกอยู่ในสภาวะที่ไม่ยั่งยืน

“การผลิตส่วนเกินของจีนเมื่อเทียบกับความต้องการ ส่งผลให้สเปรดเหล็กในประเทศต่ำมากและมีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” อาร์เซเลอร์มิตตัลระบุในรายงานผลประกอบการไตรมาสสองที่ผ่านมา


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.